รู้ลึกกับ "ขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์" มีกระบวนการอย่างไรบ้าง?

December 5, 2023

รู้ลึกกับ "ขั้นตอนการพัฒนาซอฟต์แวร์" มีกระบวนการอย่างไรบ้าง?

การพัฒนาซอฟต์แวร์ ไม่ใช่กระบวนการที่มีจุดเริ่มต้นกับจุดสิ้นสุดที่แน่นอน เหมือนกับผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เปรียบเสมือนการแก้โจทย์ปัญหาที่ใช้วิธีแตกต่างกัน และเมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามา การพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเก่าก็อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

สมัยแรก การพัฒนาซอฟต์แวร์มักจะไม่มีขั้นตอนที่ชัดเจน แต่จะเริ่มด้วยการเขียนโค้ดไปเลย เมื่อพบปัญหาก็แก้ใข สลับกันไปมาจนได้ซอฟต์แวร์ที่ซับซ้อนเกินจำเป็น ต่อมาได้มีการนำ กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่เป็นขั้นเป็นตอน เข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อลดปัญหาจากวิธีการแบบเดิม ๆ ถือเป็นกระดุมเม็ดแรกที่ควรจะเข้าใจ หากต้องการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีครับ

การพัฒนาซอฟต์แวร์ คืออะไร

การพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development) คือกระบวนการสร้าง ซอฟต์แวร์ (Software) ที่มีขั้นตอนครอบคลุมทั้งแนวคิดและแนวทางปฏิบัติ ตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหา การออกแบบ เขียนโปรแกรม ทดสอบ และการบำรุงรักษาซอฟต์แวร์ให้สามารถทำงานได้ดี เพื่อทำให้ความต้องการของผู้ว่าจ้างเกิดเป็นผลงานซอฟต์แวร์ที่ตอบสนองการใช้งานได้จริง

กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ 6 ขั้นตอน

กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ นั้นคือแนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ เพื่อให้ระบบทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ และสามารถติดตามความคืบหน้าของโปรเจกต์ได้อย่างรอบคอบ โดยแบ่งออกเป็น 6 ขั้นตอน ตามต่อไปนี้

1. การวางแผนและวิจัย (Plan & Research)

เป็นขั้นตอนสำคัญ ที่ผู้พัฒนาจะต้องตีความความคาดหวังของลูกค้าให้ละเอียด ว่าปัญหาที่อยากหรือควรแก้ใขคืออะไร โดยมีการระบุให้ชัดเจนถึง กรอบเวลา ขอบเขตของงาน และผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดว่ามีใครบ้าง เพื่อประเมินทรัพยากรที่ต้องใช้และคำนวณค่าใช้จ่ายโดยประมาณ

2. การวิเคราะห์ (Analyze)

ก่อนเริ่มการพัฒนาซอฟต์แวร์ ควรจะต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโปรเจกต์ โดยการรวบรวมความต้องการของลูกค้า และประเมินความสามารถของเทคโนโลยี ที่จะนำมาใช้อย่างเหมาะสม ขั้นตอนวิเคราะห์จะช่วยให้สามารถประเมินความเหมาะสมของเครื่องมือ เทคโนโลยีที่ต้องใช้ และการใช้ทรัพยากรว่าเหมาะสมต่อโปรเจกต์หรือไม่

3. การออกแบบและสร้างต้นแบบ (Design & Prototype)

ขั้นตอนการออกแบบหน้าตาการใช้งานของซอฟต์แวร์ (UX/UI) เพื่อให้เห็นฟังก์ชันหรือ Feature การใช้งาน ในขั้นตอนนี้ลูกค้าจะได้เห็นผลลัพธ์ของซอฟต์แวร์ที่เสมือนจริง และสามารถให้ Feedback ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาต่อไป มีประโยชน์ช่วยลดความเสี่ยงในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ไม่ตรงตามความต้องการของผู้ใช้หรือผู้ที่เกี่ยวข้องใด ๆ และสามารถช่วยประหยัดเวลากับทรัพยากรได้ดีอีกด้วย

4. การพัฒนา (Development & Testing)

หลังจากทดสอบ UX/UI และประเมินจนได้ข้อสรุปที่สามารถนำมาใช้งานได้จริง ก็จะเริ่มการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างเต็มรูปแบบ โดยแต่ละช่วงของการพัฒนาซอฟต์แวร์ จะถูกแบ่งออกเป็น 4 ระยะหลักดังนี้

  • Pre-alpha ระยะเริ่มต้นของการพัฒนา ช่วงนี้ซอฟต์แวร์จะยังไม่สมบูรณ์แบบ และมีฟังก์ชันการทำงานที่ไม่ครบถ้วนหรือมีบั๊ก (Bug) อยู่มาก
  • Alpha เป็นระยะที่พัฒนาต่อจาก Pre-alpha ฟังก์ชันการทำงานจะครบถ้วนมากขึ้น แต่ก็ยังมีบั๊กอยู่ โดยระยะนี้นักพัฒนาจะลองทดสอบโดยกลุ่มผู้ใช้ภายใน เพื่อรวบรวมทุกความคิดเห็นกับข้อเสนอแนะ (Feedback) แล้วนำไปปรับปรุงแก้ใขต่อ
  • Beta ช่วงนี้ซอฟต์แวร์จะพร้อมสำหรับใช้งานจริงแล้ว นักพัฒนาจะทำการเผยแพร่ซอฟต์แวร์สู่สาธารณะให้ลูกค้าได้ลองทดสอบ โดยจะยังคงรวบรวม feedback เพื่อนำไปปรับปรุงต่อจนสมบูรณ์มากที่สุด
  • Release candidate ในระยะนี้ ซอฟต์แวร์จะถูกปรับปรุงแก้ใขบั๊กต่าง ๆ เรียบร้อยแล้ว และนักพัฒนาจะทำการเผยแพร่ให้ลูกค้าลองใช้อีกครั้ง เพื่อทดสอบความพร้อมก่อนเปิดตัว (Final Release) อย่างเป็นทางการ
5. การนำไปใช้ (Deployment)

หลังจากซอฟต์แวร์ได้รับการพัฒนาจนเสร็จสิ้น ก็ถึงเวลาที่จะต้องนำไปส่งมอบให้กับลูกค้าหรือผู้ที่เกี่ยวข้องใช้งาน โดยขั้นตอนนี้ คือการทำให้ซอฟต์แวร์สามารถทำงานบนระบบของลูกค้าได้ไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าซอฟต์แวร์จะมีความซับซ้อนมากขนาดไหน การนำไปใช้ก็ควรจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ไม่ต้องมีการตั้งค่าหรือปรับแต่งอะไรให้ยุ่งยาก

6. การบำรุงรักษา (Maintenance)

ขั้นตอนสุดท้ายหลังส่งมอบซอฟต์แวร์ให้กับลูกค้า เพื่อปรับปรุงแก้ใขข้อบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นระหว่างใช้งาน เพราะเป็นไปได้ที่จะมีจุดผิดพลาด (เล็กน้อย) ที่ยังไม่ได้ตรวจพบเจอ แต่มาแสดงอาการในภายหลัง ในขั้นตอนนี้อาจจะรวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติบางประการที่ตกหล่น โดยจะรวบรวมจากทุก feedback ของผู้ใช้งานจริงมาดำเนินการต่อ ทั้งหมดก็เพื่อให้ผลงานซอฟต์แวร์มีความสมบูรณ์มากที่สุด และมอบประสบการณ์ที่น่าพอใจให้กับลูกค้า

ประโยชน์ของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (Software Development)

  • ช่วยให้ทำงานเป็นระบบ สื่อสารกันเข้าใจ โดยการวางแผนพร้อมกำหนดขั้นตอนการทำงานอย่างชัดเจน ช่วยให้ทุกคนเข้าใจบทบาทและหน้าที่ของตนเอง สามารถสื่อสารกันได้สะดวก และมีส่วนช่วยลดปัญหาขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ช่วยรับมือกับความเสี่ยง กระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์จะช่วยให้สามารถระบุปัญหาพร้อมประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขความเสี่ยงเหล่านั้น
  • ได้คุณภาพของซอฟต์แวร์ที่ดี ตอบโจทย์ผู้ใช้ ด้วยการวิเคราะห์ความต้องการของผู้ใช้อย่างละเอียด ทำให้กำหนดคุณสมบัติของซอฟต์แวร์ได้อย่างครบถ้วน ตามมาตรฐานหรือเกณฑ์ที่กำหนด
  • ลดค่าใช้จ่ายที่เกินจำเป็น ด้วยการจัดสรรทรัพยากร กับควบคุมงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการเสียเวลาและเสียเงินโดยใช่เหตุ จากปัญหาการปรับเปลี่ยนคุณสมบัติซอฟต์แวร์ตามความต้องการของลูกค้าในภายหลัง

แนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี 4 ข้อ

การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดี นอกจากจะต้องทราบถึงกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ 6 ขั้นตอนแล้ว ก็ยังมีแนวคิดที่ควรยึดถือระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์อีกด้วยกัน 4 ข้อ ต่อไปนี้ครับ

1. ไม่ซับซ้อนเกินไป

เริ่มจากการออกแบบโครงสร้าง กับกลไกทำงานของซอฟต์แวร์ให้เป็นระบบที่ไม่ซับซ้อน หรือซับซ้อนให้น้อยที่สุด โดยการแบ่งซอฟต์แวร์ออกเป็นส่วนย่อย ๆ ที่มีหน้าที่และความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน รวมถึงควรหลีกเลี่ยงการใช้เทคนิคหรือเทคโนโลยีที่ซับซ้อนเกินจำเป็น เพื่อให้ง่ายต่อการพัฒนาปรับปรุง และการบำรุงรักษา

2. ทดสอบทุกอย่าง

ระหว่างการพัฒนาซอฟต์แวร์ จำเป็นจะต้องทดสอบให้ครบถ้วน และครอบคลุมทุกส่วนของซอฟต์แวร์มากที่สุด โดยการทดสอบซอฟต์แวร์ควรจะเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาการพัฒนา ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นตอนสุดท้าย จนมั่นใจว่าจะไม่มีข้อบกพร่องที่มีผลกระทบร้ายแรงหรือมีช่องโหว่ที่อาจถูกโจมตีได้ต่อผู้ใช้งานจริง

3. ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม

ทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้แก่ เวลา งบประมาณ บุคลากร และเทคโนโลยี เป็นหน้าที่ของนักพัฒนาที่จะต้องจัดสรรให้เหมาะสมกับโปรเจกต์ ไม่น้อยเกินไปหรือมากเกินจำเป็น เพื่อให้สามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ได้ทันตามกำหนดและมีประสิทธิภาพ

4. ผ่านมาตรฐาน

มาตรฐานการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่กำหนดโดยองค์กร หรือหน่วยงานที่มีอำนาจเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์นั้น มีตั้งแต่เรื่องคุณภาพ ความปลอดภัย ความเข้ากันได้ และความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งเหล่านี้นักพัฒนาควรที่จะทำความเข้าใจอย่างละเอียด ซึ่งควรทำให้ผ่านมาตรฐานทั้งหมด เพื่อให้ซอฟต์แวร์เกิดความปลอดภัยและน่าเชื่อถือ

บทสรุป

สรุปแล้ว การพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ Software Development นั้นคือแนวทางในการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีกระบวนการตั้งแต่ การวางแผน วิเคราะห์ความเป็นไปได้ สร้างแบบจำลองหาข้อสรุปเพื่อนำไปพัฒนาซอฟต์แวร์เต็มรูปแบบ จนถึงการส่งมอบให้กับลูกค้า และคอยบำรุงรักษาให้ทำงานได้ดีอยู่เสมอด้วยนั่นเอง

การพัฒนาระบบซอฟต์แวร์จะต้องเกี่ยวข้องกับผู้คนหลายฝ่าย ทั้งผู้พัฒนา ลูกค้า ผู้ใช้งาน หรือฝ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน การพัฒนาซอฟต์แวร์จึงต้องมีกระบวนการที่ชัดเจนและรัดกุม เพื่อให้การพัฒนาดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเสร็จสิ้น