April 24, 2024
โลกออนไลน์ยุคปัจจุบัน ถูกขับเคลื่อนด้วยเว็บไซต์และแอปพลิเคชันในแทบจะทุก activity ชีวิตประจำวัน เบื้องหลังความล้ำสมัยเหล่านี้ล้วนเกิดจากเหล่านักพัฒนาซอฟต์แวร์มากความสามารถ ที่ทุ่มเทสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยให้ productivity ของผู้ใช้ดีขึ้นในทางใดทางนึง
วงการของโปรแกรมเมอร์นั้นเต็มไปด้วยความท้าทายและโอกาสมากมาย เชื่อว่าหลายคนคงอยากเข้ามาโลดแล่นในสายงานนี้ แต่ด้วยความหลากหลายของเทคโนโลยี ก็มักทำให้นักพัฒนาหน้าใหม่เกิดความสับสนไม่น้อย ว่าสายงานไหนเหมาะกับตัวเอง
บทความนี้ พวกเรา Foxbith จะพามาถอดรหัส 3 สายงานฮอตในวงการโปรแกรมเมอร์อย่าง Front-End Developer, Back-End Developer และ Full Stack Developer เพื่อให้เข้าใจความแตกต่างของแต่ละสายงาน และหาเส้นทางที่ใช่สำหรับตัวเองกันครับ
“ รู้หรือไม่ ? จากผลการสำรวจของ Stack Overflow รายงานว่า Full Stack Developer นั้นเป็นสายงานโปรแกรมเมอร์ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในปี 2023 รองลงมาคือ Back end และ Front end Developer ตามลำดับ ”
การพัฒนาหน้าบ้าน หรือ Front End คือการสร้างส่วนติดต่อผู้ใช้ของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยใช้ภาษา HTML, CSS และ JavaScript เป็นหลัก ครอบคลุมถึงปุ่มที่คลิกได้ แบบฟอร์มกรอกข้อมูล ตัวอักษร (Font) และภาพกราฟิก ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ใช้รับรู้และโต้ตอบกับเว็บหรือแอปได้โดยตรง มักเรียกกันว่า “หน้าบ้าน” หรือ User Interface (UI)
Front End Developer คือผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ในส่วนที่ผู้ใช้สามารถมองเห็นและ interaction ได้โดยตรงเพื่อควบคุมการทำงานของระบบ (คือส่วน Front End นั่นแหละ)
และไม่ได้เป็นเพียงผู้เขียนโค้ด แต่ยังเป็นนักออกแบบ นักคิด และนักเล่าเรื่องผ่านการผสมผสานศาสตร์แห่งเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ กับการเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้ เพื่อสร้างหน้าเว็บหรือแอปให้สวยงาม ใช้งานง่าย และมอบความประทับใจให้กับผู้ใช้ได้ทุกแง่มุม
“ ไม่ใช่แค่หน้าเว็บที่สวยงาม แต่คือประสบการณ์ใช้งานที่ประทับใจในทุกมิติ ”
หน้าที่หลักของ Front-End Developer
การพัฒนาหลังบ้าน หรือ Back End คือส่วนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยมีระบบฐานข้อมูล (Database) เป็นหัวใจหลักในการเก็บรักษาข้อมูล และเซิร์ฟเวอร์ (Server) ที่รับผิดชอบจัดการตอบสนองต่อคำขอ (Request) และการตอบกลับ (Response) รวมทั้งจัดการประมวลผลข้อมูล เพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตรงกันข้ามกับ Front End หรือส่วนหน้าบ้าน ที่เน้นการออกแบบและปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้
Back End Developer คือผู้ที่เชี่ยวชาญการเขียนโปรแกรมในส่วน "หลังบ้าน" หรือส่วนระบบที่ทำงานอยู่เบื้องหลังทั้งหมดของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ที่ผู้ใช้มองไม่เห็นได้ด้วยตา อย่างเช่นการจัดการฐานข้อมูล (Database) การกำหนดค่าเซิร์ฟเวอร์ และการเขียนโค้ดควบคุมฮาร์ดแวร์ รวมถึงต้องสื่อสารและทำงานร่วมกันกับนักพัฒนาส่วนหน้าบ้าน (Frontend) เพื่อสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้ทำงานได้ตามที่คาดหวัง พูดให้เข้าใจง่าย คือเว็บ,แอปจะทำงานได้หรือจะพัง ก็ขึ้นอยู่ที่ Back end developer นี้แหละครับ
หน้าที่หลักของ Back-End Developer
เปรียบเทียบ นักพัฒนา Front-End, Back-Endหากเปรียบกับคนที่ทำงานในครัวร้านอาหาร นักพัฒนา Front end จะเป็นผู้ที่เตรียมวัตถุดิบ ปรุงอาหาร และจัดเสิร์ฟให้ลูกค้า ส่วนนักพัฒนา Back end จะต้องคอยดูแลเครื่องมือกับอุปกรณ์ในครัว การสั่งซื้อวัตถุดิบ และเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการขายนั่นเองทั้ง Front end และ Back end ต่างก็เป็นสายงานของ developer ที่มีความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันให้สมบูรณ์ แต่มีความต่างในเรื่องบทบาทหน้าที่
เป้าหมายร่วมกันของนักพัฒนา Front end และ Back end คือการสร้างเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มีส่วนผสมของทั้งฝั่ง client-side กับ server-side
การทำงานร่วมกันของทั้ง Front-end/Back-end developer จะเกิดขึ้นผ่านการสื่อสารระหว่างส่วนหน้าบ้านกับส่วนหลังบ้าน ซึ่งมักใช้ HTTP (Hypertext Transfer Photocol) เป็นสื่อกลาง ที่ส่วนหน้าบ้านจะส่ง request ไปยังส่วนหลังบ้าน เพื่อขอข้อมูลหรือบริการที่ต้องการ
จากนั้นส่วนหลังบ้านจะรับคำขอ ประมวลผลตามคำสั่ง และส่งคำตอบ (Response) กลับมายังหน้าบ้าน เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาไปแสดงอยู่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้เห็นและโต้ตอบกันได้
นักพัฒนาทั้ง Front end และ Back end ถึงแม้หน้าที่รับผิดชอบหลักในโปรเจกต์พัฒนาเว็บหรือแอปพลิเคชันจะแตกต่างกัน แต่ก็ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้โปรเจกต์สมบูรณ์ เว้นแต่ว่าจะเป็น “นักพัฒนา Full Stack”
นักพัฒนา Full Stack หรือ Full Stack Developer คือผู้เชี่ยวชาญที่สามารถพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันได้ทั้งส่วนหน้าบ้าน (Front end) และหลังบ้าน (Back end) ภายในคนเดียว
ทำให้การเป็นนักพัฒนา Full Stack นั้นต้องมีทักษะเฉพาะทางรอบด้าน รวมถึงทักษะทางสังคม เพราะนอกจากงานพัฒนาเว็บหรือแอป ในบางที Full stack developer ยังต้องสามารถสื่อสารและประสานงานกับลูกค้า ผู้ใช้ หรือทีมงานฝ่ายอื่นให้เข้าใจตรงกันอีกด้วย
อาจไม่ต้องเก่งมากทั้งด้านการพัฒนา Front end และ Back end แต่ควรมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในซักด้าน ?
ในการทำงานจริง หากเป็นโปรเจกต์ขนาดใหญ่ การต้องให้นักพัฒนา Full stack แบกทั้งหมดคนเดียว นั้นอาจทำให้โปรเจกต์เสี่ยงที่จะล่ม ล่าช้า หรือไม่เสร็จทันตามกำหนดได้ ทำให้ท้ายสุดก็ต้องมีนักพัฒนาแบ่งออกมาทำในส่วนของ Front end กับ Back end แยกกัน เพื่อให้งานทั้งสองส่วนดำเนินไปพร้อม ๆ กัน และนำมาเชื่อมต่อกันในภายหลัง
จึงเป็นหน้าที่ของ Full stack developer ที่ต้องดูภาพรวมของโปรเจกต์ทั้งหมด และเชื่อมต่อระบบหลังบ้านกับหน้าบ้านเข้าด้วยกัน รวมถึงเป็นคนกลางที่จะคอยช่วยพัฒนาหรือประสานงานกับนักพัฒนาทั้งสองส่วน เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างไม่ติดขัด ตลอดจนโปรเจกต์นั้นเสร็จสิ้น
หากอ่านมาถึงหัวข้อนี้ ผู้อ่านคงเข้าใจกันแล้วว่านักพัฒนาทั้ง Front end, Back end, Full stack คืออะไร และรับผิดชอบหน้าที่ส่วนไหนกันบ้าง ถ้าถามว่า “แล้วควรจะเลือกเป็นนักพัฒนาสายไหน” คำตอบของผู้อ่านคงเอนเอียงไปยัง Full stack developer กันใช่ไหมครับ
แต่การจะเป็น นักพัฒนา Full stack นั้นไม่ง่ายเพียงแค่คิด เพราะต้องใช้เวลาเพื่อฝึกฝนและสั่งสมประสบการณ์อยู่หลายปี เพื่อเรียนรู้งานสองส่วนที่มีความต่างกันมากทั้ง Front end และ Back end ให้เชี่ยวชาญเสียก่อน
ในเสต็ปแรก อาจต้องเริ่มจากการเป็นนักพัฒนาสายใดสายนึงก่อน ระหว่าง Front end กับ Back end โดยเลือกตามความถนัดหรือตามที่ชื่นชอบ และหลังจากทำงานมาได้ระยะนึงจนเชี่ยวชาญบ้างแล้ว ก็ค่อย ๆ เรียนรู้งานอีกส่วนนึง เพื่อเก็บประสบการณ์ไปเป็น Full stack ได้ในอนาคต
แต่ถ้าคิดว่าการเรียนอีกสายนึงไม่ใช่สิ่งที่ชอบ เช่นหากถนัดด้าน Front end แต่ไม่ถนัดด้าน Back end ก็สามารถฝึกฝนและเก็บประสบการณ์ในสายงานนั้น ๆ เพื่อพัฒนาไปเป็น Specialized Developer ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็เจ๋งไม่แพ้กันครับ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับ Full stack เสมอไป
ตามรายงานของ AWS (Amazon Web Services) ได้คาดการณ์ว่าความต้องการนักพัฒนาซอฟต์แวร์ประเทศไทยจะโตขึ้นถึง 29% ในปี 2024 นี้ เมื่อเทียบกับปี 2021 โดยตำแหน่ง Full stack developer จะเป็นที่ต้องการมากที่สุด รองลงมาคือ Back end developer และ Front end developer ตามลำดับ
สาเหตุหลักมาจากการเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเทคโนโลยี กับสตาร์ทอัพในประเทศไทย รวมถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่มีการปรับเปลี่ยนธุรกิจรูปแบบดั้งเดิมไปสู่ยุคออนไลน์ ด้วยการใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ส่งผลให้มีแนวโน้มความต้องการบุคลากรทางด้าน Developer เฉพาะทางอย่าง Front end, Back end และ Full stack เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุก ๆ ปี
สรุปแล้ว นักพัฒนาทั้ง Front end, Back end หรือ Full stack Developer นั้นต่างก็ล้วนเป็นสายงานของอาชีพ Developer ที่มีแนวโน้มความต้องการสูงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เพราะการมาของโทคโนโลยีล้ำสมัยมากมาย อย่างเทคโนโลยี AI/ML, Blockchain, IoT ฯลฯ รวมถึงเรื่อง Cybersecurity ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของผู้พัฒนา Back end ที่พัฒนาและดูแลส่วนของหลังบ้านทั้งหมด
ในส่วนหน้าบ้าน จะเป็นหน้าที่ของนักพัฒนา Front end ที่ต้องพัฒนาส่วนติดต่อกับผู้ใช้หรือ User Interface (UI) ด้วยการเขียนโค้ดภาษา HTML, CSS และ JavaScript เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้งานหน้าเว็บหรือแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นได้ง่าย ถือเป็นส่วนงานที่มีความท้าทายมากในเรื่องพฤติกรรมของผู้ใช้ที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ
หรือถ้ามีความเชี่ยวชาญทั้ง Front end และ Black end การเลือกเป็นนักพัฒนาแบบ Full stack ก็ถือเป็นสายงานนึงที่ได้รับค่าตอบแทนต่อเดือนดี และเป็นตำแหน่งที่เหล่าธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทยมีความต้องการสูงมากเป็นอันดับ 1 อีกด้วย รองลงมาคือนักพัฒนา Black end และ Front end ตามลำดับ