E-commerce | อีคอมเมิร์ซ คืออะไร ? มีประเภทอะไรบ้าง

February 1, 2024

E-commerce | อีคอมเมิร์ซ คืออะไร ? มีประเภทอะไรบ้าง

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป และการค้าขายแบบดั้งเดิมเริ่มถูกแทนที่ด้วยการค้าขายผ่านช่องทางออนไลน์ หรือที่เรียกว่า “ E-commerce (อีคอมเมิร์ซ) ” ซึ่งกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน บทความนี้จะพามารู้จักกับ E-commerce ให้มากยิ่งขึ้นกันครับ

E-commerce คืออะไร


อีคอมเมิร์ซ (ถูก) ไม่ใช่ อีคอมเมิส (ผิด)

อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) หรือการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คือ การซื้อขายสินค้าหรือบริการผ่านทางอินเทอร์เน็ต ที่ไม่จำเป็นต้องมีการติดต่อกันโดยตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หรือที่เรียกติดปากกันคือ " การขายของออนไลน์ "

E-commerce ได้รับความนิยมทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ที่ผู้คนต้องหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านเป็นเวลานาน เหตุผลที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างก้าวกระโดด ตั้งแต่ก่อนเกิดโรคระบาดจนถึงตอนนี้ เป็นเพราะความสะดวกรวดเร็วในการสั่งซื้อสิ่งที่ต้องการ สามารถเข้าถึงตลาดได้ทั่วโลก และต้นทุนหลายอย่างต่ำกว่าการเปิดร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม

ประเภทธุรกิจ E-commerce

ประเภทธุรกิจ E-commerce จะแบ่งได้ตามกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกันในการซื้อขาย ต่อไปนี้

  • B2C (Business to Consumer) การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับผู้บริโภค ประเภทที่นิยมมากที่สุดในการทำ E-commerce
  • B2B (Business to Business) การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ มักเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ หรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ
  • C2B (Consumer to Business) การซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับธุรกิจ เป็นการที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการกำหนดราคา และเงื่อนใขในการซื้อสินค้าหรือบริการ อย่างเช่น เว็บประมูลสินค้า
  • C2C (Consumer to Consumer) การซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค เป็นการที่ผู้บริโภคสามารถขายสินค้าของตนเองให้กับผู้บริโภคคนอื่นได้
  • B2G (Business to Government) การซื้อขายระหว่างธุรกิจกับหน่วยงานราชการ เป็นการที่ธุรกิจให้บริการหรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ
  • C2G (Consumer to Government) การซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับหน่วยงานราชการ เป็นการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องหน่วยงานราชการ อย่างเช่น เว็บไซต์ชำระภาษี
  • G2B (Government to Business) การซื้อขายระหว่างหน่วยงานราชการกับธุรกิจ เป็นการที่หน่วยงานราชการให้บริการ หรือขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนธุรกิจ อย่างเช่น เว็บไซต์ขอใบอนุญาต
  • G2C (Government to Consumer) การซื้อขายระหว่างหน่วยงานราชการกับผู้บริโภค หรือการที่หน่วยงานราชการให้บริการเกี่ยวกับประโยชน์ของสาธารณะ อย่างเช่น เว็บไซต์ขอทำใบขับขี่

ข้อดีการทำ E-commerce

E-commerce ทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค สามารถสรุปข้อได้เปรียบจากการขายสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ได้ตามต่อไปนี้

  1. รีเทล E-commerce กำลังโตขึ้นต่อเนื่อง ตามรายงานของ Statista ปริมาณการซื้อขายออนไลน์ภายในปี 2023 เพิ่มขึ้นสูง 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ จากปี 2019  ที่มีเพียง 3.5 ล้านล้านดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่ายังมีโอกาสที่ E-commerce จะยังขยายตลาดได้อีกเรื่อย ๆ ในปี 2024
  2. เข้าถึงตลาดได้ทั่วโลกเพียงไม่กี่คลิก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ตามใจชอบ รวมถึงการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้าจากผู้ขายต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  3. ค่าดำเนินการน้อยกว่าเปิดร้านค้าปลีก ใครก็สามารถทำธุรกิจ E-commerce ของตัวเองได้ เพราะการค้าขายออนไลน์ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน ไม่ต้องใช้พื้นที่ อุปกรณ์ และพนักงานมากเหมือนร้านค้าปลีก อีกทั้งร้านค้าอีคอมเมิร์ซสามารถทำให้เปิดได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องมีคนเฝ้าหรือดูแลได้อีกด้วย
  4. ผู้บริโภคเข้าถึงได้โดยตรง การค้าขายออนไลน์ทำให้ผู้ขายสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ช่วยให้เข้าใจความต้องการและความพึงพอใจของลูกค้าได้ดีขึ้น เพื่อปรับปรุงการบริการและสินค้าที่ขายให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ได้

ข้อพิจารณา การทำ E-commerce

การทำ E-commerce ถึงแม้ว่าจะมีประโยชน์มากมาย แต่บางธุรกิจก็อาจไม่เหมาะที่จะทำ E-commerce ก่อนจะเริ่ม เราอยากให้ลองพิจารณาจากเหตุผลต่อไปนี้

  1. ข้อจำกัดในการเจรจา การที่ไม่สามารถให้ลูกค้าได้สัมผัสหรือลองสินค้าได้ก่อนการซื้อ เป็นข้อจำกัดของ E-commerce ที่อาจทำให้ลูกค้าเกิดความลังเลถึงเรื่องคุณภาพ มักเป็นกับสินค้าประเภทเสื้อผ้า หรือรองเท้า แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีแก้ปัญหานี้สำหรับทุกร้าน แต่สิ่งที่ลูกค้าต้องการคือความน่าเชื่อถือ ทำให้การสร้างแบรนด์เป็นเรื่องสำคัญที่ควรทำ
  2. ปัญหาด้านเทคนิค การค้าขายออนไลน์จำเป็นต้องพึ่งพาอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากเกิดปัญหาสัญญาณเครือข่ายขัดข้อง เว็บไซต์ล่ม หรืออุปกรณ์เสียหาย สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกับประสบการณ์ใช้งานของผู้ใช้ (User Experience) อาจส่งผลให้ยอดขายลดลงตามไปด้วย
  3. ความปลอดภัยของข้อมูล ยุคดิจิทัลที่ข้อมูล (Data) มีมูลค่าการซื้อขายมหาศาล ความปลอดภัยจึงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการทำธุรกิจทุกประเภท ผู้บริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นว่าข้อมูลของพวกเขาจะถูกเก็บหรือแชร์ออกไปที่ไหนได้บ้าง ถ้าเกิดว่าข้อมูลของผู้บริโภคถูกรั่วไหลและนำไปใช้ในทางที่ผิด อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อชื่อเสียง ธุรกิจ และรายได้ขององค์กรได้
  4. ปัญหาการขนส่งสินค้า เมื่อธุรกิจเริ่มขยายใหญ่ขึ้น การจัดส่งสินค้าจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่ยากขึ้น ผู้ขายจะต้องคำนึงถึงค่าขนส่ง ระยะเวลาการจัดส่ง และความเสียหายของสินค้าระหว่างขนส่งอย่างรอบคอบ กรณีที่สินค้าเกิดความเสียหายหรือลูกค้ารอของนานเกินไป ย่อมทำให้เกิดความไม่พอใจ และอาจกดยกเลิกคำสั่งซื้อไปเลยก็ได้

สินค้าประเภทไหน ที่ขายแบบ E-commerce ได้บ้าง

โลกยุคดิจิทัลที่ E-commerce กลายเป็นช่องทางหลักในการจำหน่ายสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะขายอะไร ก็สามารถขายได้ แต่จะต้องไม่ผิดกฎหมาย และส่งผ่านทางขนส่งได้ แบ่งเป็นภาพกว้างได้ 3 ประเภทหลักต่อไปนี้

  • สินค้าที่จับต้องได้ (Physical Goods) อย่างเช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ เสื้อผ้า หรือสินค้าอุปโภคบริโภค
  • สินค้าที่จับต้องไม่ได้ (Digital Goods) อย่างเช่น แอปพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ เพลง หนัง รูปภาพ รหัสเกมหรือไอเท็มในเกม
  • บริการอำนวยสะดวก อย่างเช่น จองตั๋วเครื่องบิน/ตั๋วหนัง โรงแรมที่พัก คลินิกเสริมความงาม ฯลฯ

Tips : เพื่อให้สินค้าขายดี สำคัญคือต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ต้องน่าสนใจและตรงกับความต้องการของผู้บริโภค จากนั้นค่อยอาศัยการทำ marketing เข้ามาช่วย เพื่อให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้

ช่องทางขายสินค้าแบบ E-commerce

การนำสินค้าหรือบริการมาเสนอขายผ่านอินเทอร์เน็ต โดยอาศัยแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อทำให้การซื้อขายเกิดขึ้นได้ ครอบคลุมตั้งแต่การเลือกสินค้าหรือบริการ การชำระเงิน และการบริการขนส่ง (ถ้ามี) การขายสินค้าแบบ E-commerce นั้นมีหลากหลายช่องทาง ตามต่อไปนี้

1. เว็บไซต์ E-commerce

เว็บไซต์ E-commerce เป็นเว็บไซต์ที่มีฟังก์ชันการซื้อขายสินค้าและบริการทางออนไลน์ โดยที่ผู้ขายสามารถสร้างได้ด้วยตัวเอง หรือใช้บริการแพลตฟอร์มที่ให้บริการการสร้างเว็บไซต์ E-commerce ตัวอย่างเช่น Shopify, Magento ฯลฯ

ข้อดีของเว็บไซต์ E-commerce

  1. สร้างตัวตนและสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ เว็บไซต์ E-commerce เปรียบเสมือนหน้าร้านของแบรนด์ ที่ช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์และสินค้าได้อย่างครบถ้วน ทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจและเป็นที่รู้จักมากขึ้น
  2. ออกแบบเว็บไซต์ได้ตามต้องการ เพราะธุรกิจมีหลายประเภท เพื่อให้สอดคล้องกับโซลูชั่นของบริษัทและสร้างประสบการณ์ช็อปปิงที่ดีให้กับลูกค้า การออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ E-commerce ของตัวเองจะตอบโจทย์ที่สุด
  3. จัดเก็บข้อมูลลูกค้า และวิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อขายได้ด้วยตัวเอง เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปต่อยอดทางธุรกิจต่าง ๆ

ข้อพิจารณาของเว็บไซต์ E-commerce

  1. ต้นทุนสูงในช่วงแรก ตั้งแต่ค่าออกแบบ ค่าพัฒนาเว็บไซต์ หรือค่าการตลาด
  2. เว็บไซต์ E-commerce จำเป็นต้องคอยดูแลรักษาและอัพเดทให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

2. ร้าน Marketplace

Marketplace เว็บไซต์ E-commerce ที่รวบรวมสินค้าและบริการจากผู้ขายหลายราย ให้บริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน โดยมีระบบการสร้างร้านค้า จัดส่ง การคืนสินค้า และรองรับการชำระเงินทางออนไลน์ สามารถลงขายสินค้าได้ฟรี แต่ผู้ให้บริการ Marketplace จะได้ส่วนแบ่ง % จากราคาสินค้า หรือค่าธรรมเนียมบางส่วน ตัวอย่างเช่น Lazada หรือ Shopee

ข้อดีของร้าน Maketplace

  1. เข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้ทันที ไม่ต้องลงทุนด้านการตลาดมากนัก
  2. มีระบบการซื้อขายที่ครบวงจร ช่วยให้ผู้ซื้อกับผู้ขายเกิดความสะดวก
  3. ทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือสร้างเว็บไซต์เอง ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มากในการเริ่มธุรกิจ E-commerce ของตัวเอง

ข้อพิจารณาของร้าน Marketplace

  1. มีค่าธรรมเนียมรายปี หรือส่วนแบ่งจากยอดขายที่ต้องจ่ายให้กับร้าน Marketplace
  2. ในสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกัน เมื่อมีผู้ขายหลายราย การแข่งขันเรื่องราคาที่ถูก และโปรโมชั่นน่าดึงดูด จึงต้องให้ความสำคัญเป็นเรื่องแรก ๆ
  3. ผู้ขายจำเป็นต้องเรียนรู้การใช้เครื่องมือกับเทคนิคของแพลตฟอร์ม Marketplace แต่ละร้าน และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

3. Social Commerce

Social Commerce การซื้อขายสินค้าและบริการผ่านทางโซเชียลมีเดีย โดยใช้เป็นช่องทางโปรโมท และสื่อสารกับลูกค้า สามารถสั่งซื้อได้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย หรือผ่านทางแอปที่เชื่อมต่อ อย่างเช่น Facebook Marketplace หรือ Line Shopping

ข้อดีของ Social Commerce

  1. ผู้ซื้อกับผู้ขายโต้ตอบกันโดยตรงได้ ทำให้เกิดการเจรจาต่อรอง และตกราคากันใหม่ได้
  2. สามารถสร้างแบรนด์และความไว้วางใจกับลูกค้า ด้วยกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ต่าง ๆ
  3. Social Media มีผู้ใช้งานจำนวนมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี การกำหนดความสนใจ พฤติกรรม หรือข้อมูลประชากร เพื่อโฆษณาจึงทำได้ค่อนข้างแม่นยำ

ข้อพิจารณาของ Social Commerce

  1. ความน่าเชื่อถือน้อยกว่าช่องทางอื่น เนื่องเพราะ Social Commerce ส่วนมากยังไม่มีระบบที่สนับสนุน E-commerce มากนัก
  2. ไม่ใช่สินค้าทุกประเภท ที่เหมาะกับทุกแพลตฟอร์มโซเชียล ผู้ขายต้องศึกษากลุ่มเป้าหมายอย่างละเอียด ว่าธุรกิจ E-commerce ตนเองเหมาะกับแพลตฟอร์มโซเชียลไหนมากกว่า แล้วจึงไปเน้นหนักด้านการตลาดที่เหมาะสมต่อไป

โปรโมทสินค้า E-commerce ทำไงให้ขายดี

ปัจจุบัน การแข่งขันในธุรกิจ E-commerce กำลังสูงขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่ต้องการรุกตลาดจึงต้องหาแนวทางที่ทำให้สินค้าและแบรนด์เป็นที่รู้จัก เพื่อเข้าสู่ช่วงเพิ่มยอดขายได้
การทำ E-commerce Marketing หรือการทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์ จึงนับเป็นวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี เพราะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการในวงกว้างได้รวดเร็ว และใช้ต้นทุนน้อยกว่าช่องทางการตลาดอื่น ๆ

การตลาดบน Social Media

การใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโปรโมท ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, Line, X, Youtube หรือ TikTok ด้วยการโฆษณาแบบจ่ายเงิน การจ้าง Influencer หรือการทำคอนเทนต์น่าสนใจเรียกผู้ติดตามแบบ organic ไม่ว่าธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ก็ควรใช้สื่อ Social Media ทำการตลาด เพราะเป็นช่องทางที่ลูกค้าติดต่อเราได้สะดวกที่สุด

Tips : ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม Social Media มีการพัฒนาฟีเจอร์สำหรับการซื้อขายสินค้า อย่างเช่น Facebook Marketplace, Instagram Shopping หรือ Tiktok Shopping ที่ช่วยให้แสดงสินค้าได้เหมือนร้านค้าออนไลน์

ทำอันดับคำค้นหาบน Google ด้วย SEO

SEO หรือ Search Engine Optimization การพัฒนาปรับปรุงเว็บไซต์ เพื่อให้เว็บไซต์ E-commerce ของผู้ขายถูกจัดอันดับให้อยู่ในลำดับต้น ๆ ตามผลการค้นหาที่มีคนเสิร์ชบน Search Engine อย่าง Google หรือ Bing

Tips : การทำ SEO เป็นการตลาดที่ใช้เวลานานถึงจะเห็นผล จึงต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเรื่อง Algorithm เป็นอย่างดี เพื่อหา Factors ที่ใช้จัดอันดับของแต่ละโปรแกรมค้นหา แล้ววางแผนรายการที่จะทำก่อน-หลังอย่างละเอียดรอบคอบ

โฆษณาด้วย Google Ads

SEO การทำอันดับบนผลการค้นหาที่ใช้เวลาทำนาน ต้องลงทุนลงแรงมาก แต่เป็นผลดีต่อธุรกิจ E-commerce ในระยะยาว แต่ถ้าต้องการให้เว็บไซต์ติดอันดับต้น ๆ ของ Google ในทันที การลงโฆษณา Google Ads จึงเป็นทางเลือกที่หลายธุรกิจเลือกทำ

Google Ads แพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์บนผลการค้นหา Google และในพื้นที่เว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ร่วมมือกับทาง Google Ads หรือเรียกว่า Google Display Network (GDN)

เมื่อกลุ่มเป้าหมายค้นหา Keyword ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ E-commerce ของคุณ โฆษณาก็จะแสดงขึ้นบนผลการค้นหาอันดับต้น ๆ เสมอ เป็นวิธีโปรโมทเว็บไซต์ E-commerce ที่เร็วและทำได้ทันที เพราะใช้เงินตลอดดำเนินการโฆษณา

Tips : ปัจจุบัน Google Analytics มีฟีเจอร์ชื่อ Enhanced E-commerce ที่ช่วยให้ธุรกิจ E-commerce สามารถเห็น Shopping Behavior และ Custom Journey ที่เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ได้อย่างละเอียด ข้อมูลเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพของแคมเปญโฆษณาให้น่าสนใจ และ scope กลุ่มเป้าหมายให้ตรงมากขึ้นได้

ทิศทางของ E-commerce ในปี 2024

E-commerce เทรนด์การทำธุรกิจค้าขายที่มีศักยภาพในอนาคต มีทิศทางที่อาจเกิดขึ้นได้ในปี 2024 ต่อไปนี้

  • E-commerce จะยังเป็นส่วนสำคัญต่อผู้บริโภคเพื่อหาสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะหลังสถานการณ์โรคระบาด Covid-19 ที่ผู้บริโภคส่วนมากได้รู้จักและเข้าใจประโยชน์ของการซื้อขายสินค้าทางออนไลน์เพิ่มมากขึ้น
  • การแข่งขันจะสูงมากขึ้น ทั้งในเชิงคุณภาพ ราคา และการบริการ ทำให้ผู้ขายต้องมีการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบรับความต้องการและสร้างความประทับใจให้กับผู้บริโภค
  • การมาของเทคโนโลยี ที่ช่วยให้การซื้อขายสินค้าออนไลน์เป็นไปได้ง่ายและสะดวกขึ้น อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ในการวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า การแนะนำ products หรือการสร้างแรงจูงใจในการซื้อ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี VR/AR เพื่อสร้างประสบการณ์การซื้อขายสินค้าที่น่าสนใจกว่าก่อน
  • ผู้ขายควรต้องสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ การให้คำปรึกษา การให้ส่วนลดและสิทธิ์พิเศษ หรือการสร้างชุมชนออนไลน์ของตัวเอง เพื่อรักษาความผูกพันกับลูกค้า ให้กลับมาซื้อสินค้าที่ร้าน E-commerce ของเราอยู่เสมอ

ตามสถิติของ INSIDER INTELLIGENCE ยอดขายสินค้าบน E-commerce ทั่วโลก เพิ่มขึ้นจากประมาณ 5.7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2022 เป็น 6.3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยประมาณในปี 2023 และนักวิชาการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 8.1 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2026 นั่นหมายความว่าการค้าขายออนไลน์จะมีส่วนแบ่งการตลาดจากการซื้อขายปลีกทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 24% ในปี 2026 เลยทีเดียว

บทสรุป

สรุปแล้ว อีคอมเมิร์ซ E-commerce นั้นคือการซื้อขายสินค้าหรือบริการอำนวยสะดวกผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือที่มักเรียกว่า " การขายของออนไลน์ " ได้รับความนิยมสูงขึ้นมากหลายเท่าตัวในช่วงการระบาด COVID-19 ที่ผู้คนต้องเลี่ยงการออกนอกบ้านเป็นเวลานาน

สินค้าทุกประเภทที่ไม่ผิดกฎหมาย และส่งผ่านขนส่งได้ ล้วนสามารถลงขายแบบ E-commerce ได้ ไม่ว่าจะเป็นของใช้ทั่วไป เฟอร์นิเจอร์ สินค้าอุปโภคบริโภค จนถึงบริการอย่างการจองตั๋วเครื่องบิน/ตั๋วหนัง หรือการจองโรงแรมที่พัก และอีกมากมาย

เป้าหมายการทำ E-commerce คือจะต้องขายสินค้าหรือบริการเพื่อสร้างกำไรได้ ในปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง และมีผู้ขายมากมายที่ลงขายสินค้าประเภทหรือชนิดเดียวกัน จึงต้องหาช่องทางการขายที่เหมาะสมกับธุรกิจ และอาศัยกลยุทธ์ทางการตลาดที่ดี เพื่ออยู่รอดในสนามการแข่งขันนี้