ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คืออะไร มีอะไรบ้าง ?

February 22, 2024

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คืออะไร มีอะไรบ้าง ?

ปัจจุบันเราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ทำหลาย ๆ อย่างได้ ไม่ว่าจะเรื่องเรียน การทำงาน สื่อสาร ค้นหาข้อมูล หรือแม้แต่การเล่นเกม แต่ทั้งคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ นั้นจะไม่สามารถทำอะไรได้เลย หากไม่มี ซอฟต์แวร์ (Software) ที่เปรียบเหมือนสมองสั่งการสำหรับใช้ควบคุมให้คอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามที่เราต้องการ

ซอฟต์แวร์นั้นมี 2 ประเภทหลัก คือซอฟต์แวร์ระบบ กับ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ที่บทความนี้ เราจะมาลงลึกเรื่องของ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ Application Software กันครับ ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร มีกี่ประเภท และมีที่มาที่ไปอย่างไร

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ คืออะไร

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ Application Software คือชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้ตามความต้องการของผู้ใช้ โดยประยุกต์ใช้ในงานต่าง ๆ ทั้งงานทั่วไปและงานเฉพาะด้าน โดยเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาหรือความต้องการเฉพาะของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลข้อมูล การแสดงผล การควบคุมอุปกรณ์ หรือการเชื่อมต่อกับระบบอื่น ซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถทำงานได้บนหลายแพลตฟอร์ม ทั้งคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ

วิวัฒนาการของซอฟต์แวร์ประยุกต์

ที่มาของซอฟต์แวร์ประยุกต์ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม เมื่อคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับงานเฉพาะทาง ไม่ว่าจะเป็นการคำนวณทางวิทยาศาสตร์หรือการควบคุมเครื่องจักร ทำให้ซอฟต์แวร์ในยุคแรกถูกพัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการเหล่านี้เท่านั้น

ต่อมา เมื่อคอมพิวเตอร์มีการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูง ซอฟต์แวร์ประยุกต์จึงเริ่มพัฒนาให้ใช้งานได้ง่ายและหลากหลายขึ้น อย่างเช่น โปรแกรมประมวลผลคำ โปรแกรมตารางคำนวณ หรือโปรแกรมนำเสนอ ในยุคนี้ ซอฟต์แวร์ประยุกต์จึงเริ่มได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วไปเป็นวงกว้าง

ยุคปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้มีการพัฒนาให้ใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพสูงขึ้นไปอีก ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีใหม่เข้ามา โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่สามารถนำไปประยุกต์ให้เข้ากับซอฟต์แวร์ได้หลากประเภท

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ มีกี่ประเภท

ประเภทของซอฟต์แวร์ประยุกต์ สามารถแบ่งได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ในการจำแนก ในที่นี้จะแบ่งซอฟต์แวร์ประยุกต์ออกเป็น 2 ประเภทตามลักษณะการใช้ และตามลักษณะงานที่ใช้ต่อไปนี้

ประเภทซอฟต์แวร์ประยุกต์ ตามลักษณะการใช้งาน

  • ซอฟต์แวร์สำเร็จ (Package Software) หรือซอฟต์แวร์ที่สร้างขึ้นเพื่อจำหน่ายให้กับผู้ใช้ทั่วไป ด้วยการซื้อ/เช่าจากผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่าย โดยต้องปฏิบัติตามข้อตกลง หรือตามสัญญาการใช้งานที่กำหนด ไม่สามารถปรับแก้ไขตามที่ผู้ใช้ต้องการได้ อย่างเช่น Microsoft Office , Adobe Photoshop , WinRAR ฯลฯ
  • ซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ (Custom software) หรือซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานเฉพาะกลุ่มหรือองค์กร โดยไม่มีการจำหน่ายให้กับผู้อื่น อย่างเช่น ซอฟต์แวร์จองตั๋วเครื่องบิน/จองห้องพัก ระบบบัญชี หรือซอฟต์แวร์จัดการคลังสินค้า ฯลฯ

ประเภทซอฟต์แวร์ประยุกต์ ตามลักษณะงานที่ใช้

ความหมายคือการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่มีคุณสมบัติ ฟังก์ชัน และประสิทธิภาพตรงกับลักษณะของงานที่ต้องทำ ด้วยการพิจารณาจากความต้องการใช้งาน ว่าต้องใช้ซอฟต์แวร์ไหนเพื่องานอะไร ต่อไปนี้เป็น 7 ประเภทหลักของซอฟต์แวร์ประยุกต์ตามลักษณะงานที่ใช้ 

  1. Word Processing Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสร้าง แก้ไข จัดรูปแบบ และพิมพ์เอกสารต่าง ๆ สามารถตรวจสอบคำผิดเพื่อแก้ไขประโยค และรองรับการใช้งานได้หลายภาษา อย่างเช่น Microsoft Word , Google Docs , LibreOffice Writer หรือ Notepad
  2. Spreadsheet Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการจัดการข้อมูลที่เป็นตัวเลขหรือ ข้อความในรูปแบบของตาราง มีความสามารถในการคำนวณ วิเคราะห์ และสร้างกราฟหรือแผนภูมิจากข้อมูลที่มี อย่างเช่น Microsoft Excel , Google Sheets , LiberOffice Calc หรือ Numbers
  3. Database Management software (DBMS) ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการจัดเก็บ จัดการ และเรียกใช้หรือเรียกคืนข้อมูลที่มีความสัมพันธ์กัน ในรูปแบบของฐานข้อมูล โดยใช้ภาษาคำสั่งเฉพาะ (Query Language) อย่างเช่น Microsoft Access , MySQL , Oracle หรือ MongoDB
  4. Presentation software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสร้าง แก้ไข และแสดงผลสไลด์ที่ประกอบด้วยข้อความ ภาพ แผนภูมิ วิดีโอหรือเสียง สามารถใช้จัดรูปแบบ สร้างเอฟเฟกต์ และควบคุมการเลื่อนสไลด์ได้ อย่างเช่น Microsoft PowerPoint , Google Slides , LibreOffice Impress หรือ Prezi
  5. Graphics software ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้สำหรับสร้าง แก้ไขดัดแปลง และแสดงผลภาพ มีความสามารถในการจัดการกับภาพบิตแมป (Bitmap) หรือแบบเวกเตอร์ (Vector) และมีเครื่องมือสำหรับการปรับแต่งสี ขนาด รูปร่าง หรือเอฟเฟกต์ของภาพ อย่างเช่น Adobe Photoshop , Illustrator , GIMP , Blender และ Paint.NET
  6. Communication Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์สำหรับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์อื่น ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สามารถรับส่งหรือแปลงข้อมูลในรูปแบบต่าง ๆ ได้ อย่างเช่น Microsoft Teams , Zoom , Skype หรือ WhatsApp
  7. Specialized Software ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ใช้สำหรับวิชาชีพใดวิชาชีพนึง ด้วยการพัฒนาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของสาขานั้น มักใช้กับงานด้านการวิจัย การวิศวกรรม หรือทางการแพทย์ ตัวอย่างเช่น Autodesk , AutoCAD , SolidWorks หรือ MATLAB

ประโยชน์ของซอฟต์แวร์ประยุกต์

  • เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซอฟต์แวร์ประยุกต์สามารถช่วยให้ทุกการทำงานทำได้เร็วและดีมากขึ้น ลองคิดดูว่า ถ้าคุณต้องทำงานโดยไม่มี Microsoft word , Excel หรือซอฟต์แวร์ที่คล้ายกัน จะเป็นอย่างไร ? คงจะลำบากไม่น้อยทีเดียว
  • ช่วยลดความซับซ้อนของงาน และทำให้ง่ายมากขึ้น ตัวอย่างเช่นงานฝ่ายบัญชี ที่ถ้าหากไม่มีโปรแกรมบัญชี การทำงานคงดำเนินไปอย่างลำบากและล่าช้า
  • ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มผลกำไรให้กับธุรกิจ ในการดำเนินงานขององค์กร ไม่ว่าจะการใช้ซอฟต์แวร์ช่วยควบคุมปริมาณ หรือคุณภาพการผลิตให้แม่นยำ และใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า
  • เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ในที่นี้หมายถึงการเพิ่มศักยภาพให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งได้ ทั้งในเรื่องกำลังการผลิต การบริหารบุคลากรในองค์กร หรือการบริการลูกค้าที่ดี ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นได้เพราะมีซอฟต์แวร์ประยุกต์เข้ามาช่วย

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงประโยชน์จากการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์บางส่วนเท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วจะขึ้นอยู่กับผู้ใช้งานด้วย ว่าเลือกใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ตัวไหน กับงานรูปแบบอะไร และนำมาแก้ปัญหาหรือลดความซับซ้อนในการทำงานได้อย่างไร

ลิขสิทธิ์การนำซอฟต์แวร์ประยุกต์มาใช้

ลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ประยุกต์ คือสิทธิตามกฎหมายที่เจ้าของลิขสิทธิ์จะมีเหนือผลงานสร้างสรรค์ของตนเอง ตั้งแต่การเผยแพร่ จำหน่าย ดัดแปลง แก้ไข คัดลอก หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้ โดยที่บุคคลอื่นจะไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์

การนำซอฟต์แวร์ประยุกต์มาใช้ นั้นมีประเภทของลิขสิทธิ์หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับลักษณะการคุ้มครองและการใช้งาน ต่อไปนี้

  • Commercial Software ลิขสิทธิ์เพื่อเป้าหมายทางการค้าหรือแสวงหาผลกำไร โดยผู้ใช้จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอนุญาต และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
  • Shareware สิทธิที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถ download และใช้งานได้ฟรีระยะนึง จากนั้นจึงเรียกเก็บค่าบริการหรือค่าลิขสิทธิ์หลังสิ้นสุดการใช้งานฟรี
  • Freeware การอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถ download และใช้งานซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
  • Open Source Software เป็นสิทธิที่ให้ผู้ใช้สามารถ download และแก้ไขโค้ดของซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอนุญาต

ซอฟต์แวร์ประยุกต์ ในปี 2024

ในปี 2024 ซอฟต์แวร์ประยุกต์จะเน้นไปที่การใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์ (AI) กับการเรียนรู้ด้วยตัวเองของคอมพิวเตอร์ หรือการทำ Machine Learning มากขึ้น ทำให้ซอฟต์แวร์เหล่านี้อัจฉริยะขึ้นมาก ทั้งการเรียนรู้ปรับตัวและการทำงานแบบอัตโนมัติ รวมถึงสามารถสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ให้กับผู้ใช้ ด้วยเทคโนโลยี AR/VR และ MR

การพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ในปี 2024 นั้น นักพัฒนาควรต้องให้ความสำคัญมากในเรื่องความปลอดภัย กับความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ใช้ เพื่อป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ รวมถึงต้องปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้อย่างปลอดภัยที่สุด

บทสรุป

สรุปแล้ว ซอฟต์แวร์ประยุกต์ หรือ Application Software นั้นคือประเภทนึงของซอฟต์แวร์ (Software) ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ทั้งงานทั่วไปและงานเฉพาะด้าน โดยแบ่งประเภทของซอฟต์แวร์ประยุกต์ตามลักษณะการใช้งานได้ 2 ประเภทคือ ซอฟต์แวร์สำเร็จ (Package Software) กับซอฟต์แวร์ใช้งานเฉพาะ (Custom Software)

การพัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ในปี 2024 ถือเป็นงานที่ท้าทายสำหรับ Software Developer เพราะจำเป็นต้องมีความรู้กับทักษะด้าน AI , การทำ Machine Learning และข้อกำหนดเรื่องความปลอดภัยกับความเป็นส่วนตัวผู้ใช้ รวมถึงการต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากสาขาอื่น ทั้งการออกแบบ และการตลาด เพื่อสร้างซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่มีคุณค่า ทำงานได้ดี และใช้งานได้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้อย่างแท้จริง